วันพุธที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2557

การละเล่นไทย

10 การละเล่นพื้นบ้าน  


 เล่นซ่อนหา หรือ โป้งแปะ

           "เล่นซ่อนหา" หรือ "โป้งแปะ" เป็นหนึ่งในการละเล่นพื้นบ้านที่มีมาช้านาน และยังได้รับความนิยมอยู่ทุกยุคทุกสมัย เพราะกติกาง่าย แถมสนุก และต้องมีการกำหนดอาณาเขต เพื่อไม่ให้กว้างจนเกินไป จนถึงวันนี้ก็ยังมีเด็ก ๆ จับกลุ่มกันเล่นซ่อนหาให้เห็นกันอยู่ 

           โดยกติกาก็คือ คนที่เป็น "ผู้หา" ต้องปิดตา และให้เพื่อน ๆ ไปหลบหาที่ซ่อน โดยอาจจะนับเลขก็ได้ ส่วน "ผู้ซ่อน" ในสมัยก่อนจะต้องร้องว่า "ปิดตาไม่มิด สาระพิษเข้าตา พ่อแม่ทำนาได้ข้าวเม็ดเดียว" แล้วแยกย้ายกันไปซ่อน เมื่อ "ผู้หา" คาดคะเนว่าทุกคนซ่อนตัวหมดแล้ว จะร้องถามว่า "เอาหรือยัง" ซึ่งเมื่อ "ผู้ซ่อน" ตอบว่า "เอาล่ะ" "ผู้หา" ก็จะเปิดตาและหาเพื่อน ๆ ตามจุดต่าง ๆ เมื่อหาพบจะพูดว่า "โป้ง..(ตามด้วยชื่อผู้ที่พบ)" ซึ่งสามารถ "โป้ง" คนที่เห็นในระยะไกลได้ จากนั้น "ผู้หา" จะหาไปเรื่อย ๆ จนครบ ผู้ที่ถูกหาพบคนแรกจะต้องมาเปลี่ยนมาเป็น "ผู้หา" แทน แต่หากใครซ่อนเก่ง "ผู้หา" หาอย่างไรก็ไม่เจอสักที "ผู้ซ่อน" คนที่ยังไม่ถูกพบสามารถเข้ามาแตะตัว "ผู้หา" พร้อมกับร้องว่า "แปะ" เพื่อให้ "ผู้หา" เป็นต่ออีกรอบหนึ่งได้

          


 หมากเก็บ

           การละเล่นยอดฮิตสำหรับเด็กผู้หญิงนั่นเอง ปกติจะใช้ผู้เล่น 2-4 คน และใช้ก้อนกรวดกลม ๆ 5 ก้อนเป็นอุปกรณ์

           กติกาก็คือ ต้องมีการเสี่ยงทายว่าใครจะได้เล่นก่อน โดยใช้วิธี "ขึ้นร้าน" คือแบมือถือหมากทั้ง 5 เม็ดไว้ แล้วโยนหมาก ก่อนจะหงายมือรับ แล้วพลิกมือกลับรับหมากอีกที ใครมีหมากอยู่บนมือมากที่สุด คนนั้นจะได้เป็นผู้เล่นก่อน

           จากนั้นจะแบ่งการเล่นเป็น 5 หมาก โดยหมากที่ 1 ทอดหมากให้อยู่ห่าง ๆ กัน แล้วเลือกลูกนำไว้ 1 เม็ด ก่อนจะไล่เก็บหมากที่เหลือ โดยการโยนเม็ดนำขึ้น พร้อมเก็บหมากครั้งละเม็ด และต้องรับลูกที่โยนขึ้นให้ได้ ถ้ารับไม่ได้ถือว่า "ตาย" หรือถ้ามือไปถูกเม็ดอื่นก็ถือว่า "ตาย" เช่นกัน

           ในหมากที่ 2 ก็ใช้วิธีการเดียวกัน แต่เก็บทีละ 2 เม็ด เช่นเดียวกับหมากที่ 3 ใช้เก็บทีละ 3 เม็ด ส่วนหมากที่ 4 จะไม่ทอดหมาก แต่จะใช้ "โปะ" คือถือหมากทั้งหมดไว้ในมือ โยนลูกนำขึ้นแล้วโปะเม็ดที่เหลือลงพื้น แล้วรวมทั้งหมดที่ถือไว้ "ขึ้นร้าน" ได้กี่เม็ดถือเป็นแต้มของผู้เล่นคนนั้น ถ้าไม่ได้ถือว่า "ตาย" แล้วให้คนอื่นเล่นต่อไป โดย "ตาย" หมากไหนก็เริ่มที่หมากนั้น ปกติการเล่นหมากเก็บจะกำหนดไว้ที่ 50-100 แต้ม ดังนั้นเมื่อแต้มใกล้ครบ เวลาขึ้นร้านต้องระวังไม่ให้แต้มเกิน ถ้าเกินต้องเริ่มต้นใหม่

           



 รีรีข้าวสาร

           เชื่อเลยว่า ชีวิตในวัยเด็กของคนส่วนใหญ่ผ่านการละเล่น "รีรีข้าวสาร" มาแล้ว และยังร้องบทร้องคุ้นหูที่ว่า "รีรี ข้าวสาร สองทะนานข้าวเปลือก เด็กน้อยตาเหลือก เลือกท้องใบลาน คดข้าวใส่จาน คอยพานคนข้างหลังไว" ได้ด้วย

           กติกา รีรีข้าวสาร ก็คือ ต้องมีผู้เล่น 2 คนหันหน้าเข้าหากัน และเอามือประสานกันไว้เป็นรูปซุ้ม ส่วนผู้เล่นคนอื่น ๆ จะกี่คนก็ได้จะยืนเกาะเอวกันไว้ตามลำดับ หัวแถวจะพาขบวนลอดซุ้มพร้อมร้องเพลง "รีรีข้าวสาร" จนเมื่อถึงประโยคที่ว่า "คอยพานคนข้างหลังไว้" ผู้ที่ประสานมือเป็นซุ้มจะลดมือลงกันไม่ให้คนสุดท้ายผ่านเข้าไป เรียกว่า "คัดคน" และเล่นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนคนหมด

           ประโยชน์ของการเล่นรีรีข้าวสาร ก็คือ ช่วยให้จิตใจร่าเริงแจ่มใส รู้จักมีไหวพริบ ใช้กลยุทธ์ให้ตัวเองเอาตัวรอดจากการถูกคล้องไว้ได้ รวมทั้งฝึกให้เด็กทำงานเป็นกลุ่มได้ด้วย



 มอญซ่อนผ้า

           การละเล่นแสนสนุกที่ทำให้ผู้เล่นได้ลุ้นไปด้วย โดยใช้อุปกรณ์เพียงแค่ผ้าผืนเดียวเท่านั้น แล้วให้ผู้เล่นเสี่ยงทาย ใครแพ้คนนั้นต้องเป็น "มอญ" ส่วนคนอื่น ๆ มานั่งล้อมวง คนที่เป็น "มอญ" จะต้องถือผ้าไว้ในมือแล้วเดินวนอยู่นอกวง จากนั้นคนนั่งในวงจะร้องเพลงว่า "มอญซ่อนผ้า ตุ๊กตาอยู่ข้างหลัง ไว้โน่นไว้นี่ ฉันจะตีก้นเธอ" 

           ระหว่างเพลงร้องอยู่ คนที่เป็น "มอญ" จะแอบทิ้งผ้าไว้ข้างหลังผู้เล่นคนใดคนหนึ่ง แต่เมื่อทิ้งผ้าแล้ว จะแกล้งทำเป็นยังไม่ทิ้ง โดยเดินวนไปอีก 1 รอบ หากผู้ที่ถูกทิ้งผ้าไม่รู้ตัว "มอญ" จะหยิบผ้ามาตีหลังผู้เล่นคนนั้น แล้วต้องกลายเป็น "มอญ" แทน แต่หากผู้เล่นรู้ตัวว่ามีผ้าอยู่ข้างหลัง ก็จะหยิบผ้ามาวิ่งไล่ตี "มอญ" รอบวง "มอญ" ต้องรีบกลับมานั่งแทนที่ผู้เล่นคนนั้น แล้วผู้ที่วิ่งไล่ต้องเปลี่ยนเป็น "มอญ" แทน



 เดินกะลา

           ดูจะเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่หาดูได้ไม่บ่อยนัก แต่หากเป็นสมัยก่อนจะเห็นเด็ก ๆ เดินกะลา กันทั่วไป โดยผู้เล่นจะต้องนำกะลามะพร้าว 2 อันมาทำความสะอาดแล้วเจาะรูตรงกลาง ร้อยเชือกให้แน่น เพื่อป้องกันไม่ให้เชือกหลุดเวลาเดิน เวลาเดินให้ใช้นิ้วหัวแม่เท้ากับนิ้วชี้คีบเชือกเอาไว้แล้วเดิน หากมีเด็ก ๆ หลายคนอาจจัดแข่ง เดินกะลา ได้ด้วยการกำหนดเส้นชัยไว้ใครเดินถึงก่อนก็เป็นผู้ชนะไป 

           ประโยชน์ของการ เดินกะลา ก็คือช่วยฝึกการทรงตัว ความสมดุลของร่างกาย เพราะต้องระวังไม่ให้ตกกะลา ช่วงแรก ๆ อาจจะรู้สึกเจ็บเท้า แต่ถ้าฝึกบ่อย ๆ จะชินและหายเจ็บไปเอง แถมยังทำให้ร่างกายแข็งแรง เพลิดเพลินอีกด้วย



 กาฟักไข่

           เป็นอีกหนึ่งการละเล่นที่เคยได้ยินชื่อ แต่หลายคนไม่ทราบกติกา โดยวิธีการเล่นก็คือ ใช้อะไรก็ได้ลักษณะกลม ๆ เท่าจำนวนคนเล่น ยกเว้นผู้ที่เป็นกา 1 คน มาสมมติว่าเป็น "ไข่" แล้วเขียนวงกลมลงบนพื้น 2 วง วงแรกเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 ฟุต และอีกวงหนึ่งอยู่ข้างในวงแรก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ฟุต วาง "ไข่" ทั้งหมดไว้ในวงกลมเล็ก ให้คนใดคนหนึ่งเป็นกา ยืนในวงกลมวงใหญ่ หรือนั่งคร่อมวงกลมเล็ก นอกนั้นทุกคนยืนรอบนอกวงกลมวงใหญ่ คอยแย่งไข่ คนเป็นกามีหน้าที่ป้องกันไข่ ไม่ให้ถูกแย่งไป

           กติกาของ กาฟักไข่ ก็คือคนข้างนอกต้องแย่งไข่มาให้ได้ โดยใช้แขนหรือมือเอื้อมเข้าไป แต่ห้ามนำตัวเข้าไปในวงกลม และต้องระวังไม่ให้อีกาถูกมือหรือแขนได้ด้วย หากแย่งไข่ออกมาได้หมดแล้ว ให้ปิดตากา แล้วนำไข่ทั้งหมดไปซ่อน เพื่อให้กาตามหาไข่ หากพบไข่ที่ผู้เล่นคนใดนำไปซ่อน ผู้นั้นจะต้องเปลี่ยนมาเป็นกาแทน



 งูกินหาง

           "แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน..." ประโยคคุ้น ๆ ให้การเล่น งูกินหาง ที่ยังติดตรึงในความทรงจำของใครหลาย ๆ คน และเป็นที่นิยมของเด็กในทุกเทศกาล ทุกโอกาสอีกด้วย

           วิธีการเล่นงูกินหาง เริ่มจากเสี่ยงทาย ใครแพ้ต้องไปเป็น "พ่องู" ส่วนผู้ชนะที่มีร่างกายแข็งแรง ตัวใหญ่จะเป็น "แม่งู" ไว้คอยปกป้องเพื่อน ๆ คนอื่นที่เป็น "ลูกงู" จากนั้น "ลูกงู" จะเกาะเอวแม่งูและต่อแถวกันไว้ ยืนเผชิญหน้ากับ "พ่องู" จากนั้นจะเข้าสู่บทร้อง โดยพ่องูจะถามว่า

           พ่องู : "แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน"

           แม่งู : "กินน้ำบ่อโสกโยกไปโยกมา" (พร้อมแสดงอาการส่ายตัวไปมา)

           พ่องู : "แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน"

           แม่งู : "กินน้ำบ่อหินบินไปบินมา" (พร้อมแสดงอาการบินไปบินมา)

           พ่องู : "แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน"

           แม่งู : "กินน้ำบ่อทรายย้ายไปย้ายมา" (พร้อมแสดงอาการส่ายตัวไปมา)

           จากนั้นพ่องูจะพูดว่า "กินหัวกินหางกินกลางตลอดตัว" แล้ววิ่งไล่จับลูกงูที่กอดเอวอยู่ ส่วนแม่งูก็ต้องป้องกันไม่ให้พ่องูจับลูกงูไปได้ เมื่อลูกงูคนไหนถูกจับ จะออกจากแถวมายืนอยู่ด้านนอก เพื่อรอเล่นรอบต่อไป หากพ่องูแย่งลูกได้หมด จะถือว่าจบเกมแล้วเริ่มเล่นใหม่ โดยพ่องูจะกลับไปเป็นแม่งูต่อในรอบต่อไป

           ประโยชน์ของการเล่นงูกินหาง ก็คือ ทำให้ผู้เล่นเกิดความสามัคคี ทำงานเป็นกลุ่ม รู้จักช่วยเหลือกัน และรู้จักการต่อสู้เพื่อเอาตัวรอด เมื่อภัยมาถึงตัว นอกจากนี้ยังฝึกร่างกายให้แข็งแรง และจิตใจเบิกบานสนุกสนานไปด้วย



 ม้าก้านกล้วย

           เป็นอีกหนึ่งการละเล่นที่แสดงถึงความมีภูมิปัญญาของคนไทยทีเดียว เพราะในสมัยก่อนแทบทุกบ้านจะปลูกต้นกล้วยไว้ทั้งนั้น ดังนั้น ต้นกล้วยจึงนำมาประยุกต์เป็นของเล่นให้เด็ก ๆ ได้อย่างดีทีเดียว โดยเฉพาะ ม้าก้านกล้วย ดูเหมือนจะถูกอกถูกใจเด็กชายวัยซนมากที่สุด เพราะเด็ก ๆ จะนำก้านกล้วยมาขี่เป็นม้า เพื่อแข่งขันกัน หรือทำเป็นดาบรบกันก็ได้

           วิธีทำม้าก้านกล้วย ก็ไม่ยาก เลือกตัดใบกล้วยออกมาแล้วเอามีดเลาะใบกล้วยออก แต่เหลือไว้ที่ปลายเล็กน้อยให้เป็นหางม้า เอามีดฝานแฉลบด้านข้างก้านกล้วยตรงโคนบาง ๆ เพื่อทำเป็นหูม้า แล้วหักก้านกล้วยตรงโคนหูม้าออก จากนั้นก็นำแขนงไม้ไผ่มาเสี้ยมปลายให้แหลม ความยาวประมาณคืบกว่า ๆ เสียบหัวม้าที่พับเอาไว้จนทะลุไปถึงก้าน เพื่อให้เป็นสายบังเหียนผูกปากกับคอม้านั่นเอง เสร็จแล้วก็นำเชือกกล้วยมาผูกด้านหัวม้าและหางม้า ทำเป็นสายสะพายบ่า แค่นี้ก็ได้ม้าก้านกล้วยไปสนุกกับเพื่อน ๆ แล้ว



 ทอยเส้น

           หากย้อนไปสักปี พ.ศ.2510-2530 ทอยเส้นจะเป็นที่นิยมกับเด็ก ๆ อย่างมาก โดยอุปกรณ์การเล่นจะใช้ตัวตุ๊กตุ่นพลาสติกหรือยาง ขนาดความสูง 4-5 เซนติเมตร  (ที่แถมมากับขนมอบกรอบซึ่งฮิตมากในยุคนั้น) มาใช้ทอย และต้องมีพื้นถนนที่มีเส้นรอยต่อระหว่างบล็อก ระยะห่างประมาณ 3-5 เมตร หรือใช้การขีดลากเส้น 2 เส้นแทนก็ได้

           วิธีการเล่นทอยเส้น คือต้องเสี่ยงหาคนทอยก่อน โดยใช้วิธีเป่ายิงฉุบ โอน้อยออก ฯลฯ แล้วแต่จะเลือก หรือจะทอยเปล่า เพื่อดูว่าใครใกล้-ไกลเส้นมากกว่า คนที่ไกลเส้นที่สุดจะต้องเริ่มทอยก่อน เพราะจะเสียเปรียบที่สุด ส่วนคนที่ทอยทีหลังจะได้เปรียบ เพราะเลือกหาทางหนีทีไล่ได้ดีกว่า

           เมื่อกำหนดลำดับผู้เล่นแล้ว ให้ผู้เล่นยืนจรดเท้าอยู่เส้นแรก ห้ามล้ำเส้นออกไป แล้วใช้แขนเหวี่ยงตุ๊กตุ่นในมือออกไป ให้ตก หรือทับเส้นที่สอง เมื่อทอยครบทุกคน ให้เปรียบเทียบ ตุ๊กตุ่นของใครใกล้เส้นที่สุดเป็นผู้ชนะ จากนั้น ผู้ชนะจะยืนที่ตำแหน่งตุ๊กตุ่นของตัวเอง แล้วใช้ตุ๊กตุ่นของตัวเองเอื้อม หรือปาไปให้โดนตัวอื่นที่อยู่ห่างเส้นในลำดับถัดไป เพื่อจะได้กิน (ครอบครอง) ตุ๊กตุ่นตัวนั้นไว้ หากกินได้ ผู้เล่นคนอื่นจะถูกลงโทษตามตกลง เช่น ดีดมะกอก ฯลฯ เมื่อจบรอบแรก ก็หันหลังกลับ ยืนจรดเส้นที่สอง แล้วทอยกลับไปให้ใกล้เส้นแรกมากที่สุด ด้วยกติกาเช่นเดิม โดยดูแล้วมีลักษณะคล้ายการเล่นทอยเหรียญ หรือ Pitch and Toss ของต่างประเทศ

           



 ว่าวไทย

           เชื่อว่าหลายคน คงเคยมีประสบการณ์การเล่นว่าวในช่วงปิดเทอมที่ท้องสนามหลวงมาแล้ว แม้ว่าตอนนี้ภาพนั้นจะค่อย ๆ จางหายไปแล้วก็ตาม โดย "การเล่นว่าวไทย" นั้น เริ่มมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเรื่อยมา ตามที่ปรากฎหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และถือเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงภูมิปัญญาพื้นบ้านและวัฒนธรรมของไทยได้อย่างดี เพราะแต่ละท้องถิ่นจะคิดประดิษฐ์ว่าวแตกต่างกันไป "ว่าวไทย" จึงกลายเป็นมรดกตกทอดของแต่ละชุมชนและมีลักษณะเฉพาะตัวที่โดดเด่น

           โดย "ว่าว" มีหลายประเภท เช่น "ว่าวจุฬา" มีลักษณะเป็น 5 แฉก นิยมเล่นในภาคกลาง ,"ว่าววงเดือน" หรือ "ว่าวบุหลัน" มักตกแต่งเป็นลวดลายเรือกอและ นิยมเล่นในภาคใต้ตอนล่าง นอกจากนี้ยังมี "ว่าวปักเป้า""ว่าวงู" ฯลฯ 

           การเล่นว่าวนั้น เล่นได้ทั้งหน้าหนาวและหน้าร้อน โดยอาศัยกระแสลมเป็นตัวฉุดให้ว่าวลอยขึ้น โดยหากเป็นลมหน้าหนาว จะเป็นลมที่พัดจากผืนแผ่นดินลงสู่ทะเล ทำให้คนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือนิยมเล่นว่าวกันในช่วงนี้ ส่วนหน้าร้อน มีลมตะวันตกเฉียงใต้จากทะเลพัดสู่ผืนแผ่นดินใหญ่ เรียกว่า "ลมตะเภา" ทำให้ชาวภาคกลาง ภาคตะวันตกและภาคใต้ นิยมเล่นว่าวในฤดูนี้

แหล่งที่มา
           

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น